ทีมแบนด์บู (Bandboo) จากซ้าย: อึง จง ชิน (Ng Zhong Qin) (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี), โอว จือชวี Ou Zhiqu (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ), แอชลี คี (Ashley Kee) (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) ล่าง: ชี ชุน เวย (Chee Chun Woei) (ประธาน)
ภาพจาก: แบนด์บู
สตาร์ทอัพที่ดีไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่ยังต้องเกิดจากความเชื่อ วิสัยทัศน์และมุมมองที่กล้าหาญและเฉียบคม Bandboo คือ สตาร์ทอัพน้องใหม่ที่เริ่มต้นด้วยสิ่งเหล่านี้
จากการอภิปรายเรื่อง “ยูนิคอร์น กับ ยูนิคอร์ปส์ (Unicorns vs. Unicorpses)” ในการประชุม Economist Finance Disrupted ณ กรุงลอนดอนครั้งล่าสุดที่ผ่านมา สามในสี่ของธุรกิจทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
พื้นที่การลงทุนที่น่าสนใจที่สุด คือ การประกันภัย และหนึ่งในทีม Start Up ด้าน Insurtech ที่ Krungsri Finnovate จะมาแนะนำในวันนี้ มีความน่าสนใจทั้งในแง่คิดของการเริ่มต้นธุรกิจและการใช้เทคโนโลยีมาผนวกเข้าด้วยกัน และเส้นทางการเป็นสตาร์ทอัพของพวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันครับ
เมื่อโอว จือชวี (Ou Zhiqu) อายุ 30 ปี ออกจากอาชีพที่มั่นคงในกระทรวงศึกษาธิการ แล้วมาทำสตาร์ทอัพ มุมมองของเพื่อน ๆ ที่มีต่อเขาก็เปลี่ยนไป เขาบอกว่า “คนไม่มองว่าผมเป็นสตาร์ทอัพ แต่เห็นผมเป็นแค่คนว่างงาน”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการทำสตาร์ทอัพของเขาที่ชื่อว่า
แบนด์บู (Bandboo) ขึ้นมาในประเทศสิงคโปร์เพื่อขายประกันการว่างงาน แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ประกันนี้สัญญาว่าจะลดเบี้ยประกันและมีความโปร่งใสมากกว่าแบบประกันอื่น ๆ ที่เคยมี เขาให้เหตุผลที่ทำธุรกิจนี้ไว้ว่า “บริษัทประกันทำกำไรได้เยอะ แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร”
แบนด์บู ของเขา ขายประกันต่างจากที่อื่น ๆ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ บริษัทจะคืนเบี้ยประกันที่ไม่ได้ใช้ให้กับผู้เอาประกันภายในเวลา 1 ปี ต่างจากบริษัทประกันทั่วไปซึ่งจะเก็บเบี้ยประกันที่คุณจ่ายไว้ ซึ่งถ้าคุณไม่เรียกร้องค่าสินไหม ก็จะไม่จ่ายเงินคืนให้
ความพิเศษอีกข้อ คือ เงินที่แบนด์บูเก็บจากแผนประกันการว่างงานมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ ค่าสมาชิก ราคาเดือนละ 9.99 เหรียญสิงคโปร์ (7.20 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 245 บาท) โอวคิดว่าค่าธรรมเนียมเท่านี้ก็ช่วยให้แบนด์บูมีกำไรพอแล้ว แต่ถ้าต้องการการดูแลที่มากกว่า ลูกค้าก็สามารถจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มเติมได้ในราคาเดือนละ 35 เหรียญสิงคโปร์ (25 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 849 บาท)
คำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ แล้วถ้าเกิดคุณมีงานทำขึ้นมา คุณจะได้เงินทั้งหมดคืนไหม
คำตอบของแบนด์บู คือ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะวิธีการของแบนด์บูเป็นการรวบรวมคนเอาไว้กลุ่มละ 1,000 คน แล้วประกันของคุณจะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มของคุณมีจำนวนครบ 1,000 คน เมื่อคนใดคนหนึ่งถูกเลิกจ้าง เงินที่คนในกลุ่มจ่ายก็จะถูกจ่ายเป็นค่าสินไหม เงินส่วนที่ไม่ได้จ่ายค่าสินไหมก็จะกลับเข้ากระเป๋าคุณ ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น คนว่างงานน้อยลง ผู้ทำประกันก็จ่ายเงินน้อยลงตามไปด้วย
แต่บริษัทประกันทั่วไปจะเก็บเบี้ยประกันในราคาสูงขึ้น เพราะลดเบี้ยประกันไม่ได้ ดังนั้น ประกันการว่างงานทั่วไป จึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศสิงคโปร์ และโอวมั่นใจว่าโมเดลธุรกิจของแบนด์บูจะรอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหนาเท่ากับที่เกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2551 ไปได้ด้วยจำนวนเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับแต่ละเดือน
แล้วแบบนี้ บริษัทประกันทั่วไปจะไม่ลอกแนวคิดของเขาหรือ
เขาคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้เล่นรายใหญ่มีแรงจูงใจที่จะลดรายจ่าย แต่แนวทางนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำไรของบริษัท และยังต้องโน้มน้าวใจผู้ถือหุ้นและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันอย่างมากให้เชื่อว่า “จำเป็นต้องใช้โมเดลเหมือนของแบนด์บูเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดหรือเพื่อความอยู่รอดของบริษัท” เขากล่าว
และแม้ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนมาใช้โมเดลนี้ก็ตาม แต่ก็ยังต้องปรับปรุงโมเดลธุรกิจของตนอย่างมาก เริ่มตั้งแต่วิธีจ่ายค่าตอบแทนให้ตัวแทน ไปจนถึงวิธีลงทุน ตลอดจนเปลี่ยนกรมธรรม์เดิมที่ขายเมื่อหลายปีก่อนซึ่งยังเหลืออีกหลายปีกว่าจะครบกำหนด ดังนั้น ดูเหมือนว่าพวกที่น่าจะลอกเลียนแบบเขามากที่สุดก็คือ พวกสตาร์ทอัพนั่นเอง
จากบัดดี้ทหารสู่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท
โอวกับแอชลี คี (Ashley Kee) เจอกันในกองทัพ และภายหลังจากทำงานด้านกฎหมายและหุ้นนอกตลาด (private equity) คีก็โดดเข้ามาในโลกแห่งสตาร์ทอัพร่วมกับโอว ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบนด์บู โอวเล่าว่า “ถ้าผมไม่ทำ แล้วในอนาคตเมื่อผมมองย้อนกลับไป ก็อาจเสียดายที่ไม่กล้าลงมือทำ โดยเฉพาะเมื่อเรายังหนุ่ม และไม่มีภาระทางการเงินมากนัก”
ส่วนผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีประจำกลุ่มคือ อึง จง ชิน (Ng Zhong Qin) จบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเขาเคยใช้เวลาถึง 5 ปีเพื่อสร้างแอปพลิเคชันให้กับธนาคารยูโอบี
อึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอีเธอเรียม (Ethereum) ซึ่งเป็น
บล็อกเชน (blockchain) ประเภทหนึ่ง และปัจจุบันแบนด์บูใช้อีเธอเรียมเหมือนสมุดบัญชีที่บันทึกธุรกรรมทั้งหมด ได้แก่ การเรียกร้องสินไหมระหว่างผู้ใช้งานด้วยกันเอง โดยบริษัทประกันเข้าไปดูรายการได้
แต่ประเด็นความโปร่งใสนี้ อาจจะไม่ได้เป็นที่สนใจของลูกค้ามากนัก ซึ่งตัวเขาเองก็กำลังทดสอบเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้อยู่ อย่างไรก็ดี การนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมประกันยังเป็นเรื่องไกลตัวของใครหลายคน
โอวเชื่อว่าจะใช้บล็อกเชนมาพัฒนา “
สัญญาอัจฉริยะ (smart contract)” เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้อง ดำเนินการ และจ่ายค่าสินไหมได้โดยอัตโนมัติ
ทุกวันนี้ ถ้ามีคนเสียชีวิต ครอบครัวต้องดำเนินการต่าง ๆ มากมายในการเรียกร้องสินไหม หากมีสัญญาอัจฉริยะนี้พวกเขาจะฝากเงินได้โดยอัตโนมัติ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเข้าใช้ข้อมูลของรัฐได้โดยผ่านเอพีไอ (API) ซึ่งประเทศที่คลั่งไคล้เทคโนโลยีอย่างสิงคโปร์น่าจะสนับสนุนแนวคิดนี้ เขาดำเนินการขอการอนุมัติเรื่องนี้จากรัฐบาล และมันนานจนเขาเริ่มกังวล
นี่น่าจะเป็นยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีประกัน หรือ
อินชัวร์เทค (insurtech) ทั้งในประเทศสิงคโปร์และในโลก แม้แบนด์บูเองเพิ่งเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือน และจำนวนผู้ลงทะเบียนก็ยังไม่ถึงพันรายชื่อเพื่อที่จะเริ่มต้นกลุ่มแรกได้ แต่บริษัทยังคงจำหน่ายประกันมากขึ้น และวางแผนพึ่งตัวแทนประกัน ซึ่งโอวบอกว่าการประกันการว่างงานของเขา ช่วยเสริมคุณสมบัติให้การประกันแบบดั้งเดิมได้ และแบนด์บูยังขายโปรแกรมโดยตรงให้กับบริษัทที่ต้องการนำเสนอสิทธิประโยชน์เรื่องการลดจำนวนพนักงานด้วย (retrenchment benefits)
นอกจากนี้ยังมีบริษัทประกันรูปแบบอื่นเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ ทั้งบริษัทประกันออนไลน์แห่งเดียวของประเทศจีนอย่าง
จงอัน (Zhong An) ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งในพ.ศ. 2556 และปัจจุบันมีมูลค่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัททำรายได้จากการนำเสนอประกันการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อของในเว็บไซต์เถาเป่า (Taobao)
สตาร์ทอัพบางรายพยายามนำบล็อกเชนมาใช้ในธุรกิจประกัน สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันอย่าง
ไดนามิส (Dynamis) ก็คล้ายกับแบนด์บูตรงที่ใช้เอเธอเรียม (Ethereum) เหมือนกัน และยังพยายามใช้ข้อมูลในลิงก์อินของผู้ทำประกันเพื่อจะได้อนุมัติกรมธรรม์และสินไหมให้เร็วขึ้น
กลายเป็นว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังมีปัญหาเรื่องการกำกับดูแลอินชัวร์เทค ในขณะที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ยอมรับเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่แบนด์บูก็ต้องการดำเนินธุรกิจแบบปลอดภัยไว้ก่อน จึงขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพจากธนาคารกลางสิงคโปร์
“เรายอมให้เขากำกับดูแลดีกว่า”
โอวเชื่อว่าสิ่งที่พวกตนกำลังทำนี้ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกัน เพราะแบนด์บูไม่ใช่บริษัทประกันแบบดั้งเดิม อีกทั้งไม่ได้เป็นคนกลางที่ขายประกันของบริษัทอื่น ๆ แต่พวกเขาก็ยังต้องการตราอนุมัติจากธนาคารกลางเพื่อยืนยันสิทธิ์
การตรวจสอบใช้เวลานานกว่าที่พวกเขาคาดคิดไว้ ธนาคารกลางตรวจสอบโมเดลธุรกิจของแบนด์บูแบบรอบด้านและพยายามหาความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบ โอวกังวลว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผลการตรวจสอบออกมาเป็นด้านลบ แล้วพวกเขาดำเนินการต่อไม่ได้
“เป็นเรื่องค่อนข้างท้าทาย ตอนที่พวกเราคอยผลตรวจสอบ” โอวบอก พร้อมเล่าว่า “ธนาคารกลางให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีตั้งแต่ต้นจนจบ” หลังจากคอยอยู่ 3 เดือน พวกเขาก็ได้รับอนุมัติ โอวคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สตาร์ทอัพในภาคส่วนการเงินต้องคุยกับหน่วยงานกำกับดูแล
“เรายอมให้เขากำกับดูแลดีกว่า เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความไว้วางใจกับประชาชน” โอวกล่าว
สำหรับนักธุรกิจและเหล่าสตาร์ทอัพ Bandboo ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทั้งมุมมองในการเริ่มต้นบุกเบิกสิ่งใหม่ ๆ ในวงการ ประเมินความเสี่ยงและป้องกันจุดอ่อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการลงทุน สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับประกันภัย อาจเริ่มต้นศึกษาได้ในบทความ
ประกันภัยทำไมต้องมี เมื่อไหร่ที่ควรมี
แหล่งข้อมูล:
Tech in Asia